วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

 
ในดินแดนสยามประเทศ
พระเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน
ผู้พลิกฟื้นธรรมความจริง
ให้ปรากฎในยุครัตนโกสินทร์ คือ
องค์พระหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
โดยท่านเน้นสอนพระ
"พระที่มีระเบียบธรรมวินัย คือ
องค์แทนของศาสดา
เป็นเครื่องปฏิบัติดำเนิน
ความสงบเสงี่ยมเจียมตัว
ระวังกาย วาจา ใจ
ไม่ให้เคลื่อนไปในทางผิดนั้นแล คือ
พระที่ทรงมรรค ทรงผล ทรงธรรม ทรงวินัย
จะสามารถทรงตัวได้ดีทั้งปัจจุบัน
และอนาคตไม่เสื่อมเสีย"
ท่านคือ นักรบธรรมในวงค์กรรมฐาน
ผู้นำกองทัพธรรมในยุคปัจจุบัน
ท่านสอนพระเน้นการปฏิบัติ
"ธรรมอยู่ฟากตาย ถ้าไม่รอดตายก็ไม่ได้ธรรม
เพราะการเสี่ยงต่อชีวิตจิตใจ
อันเกี่ยวกับความเป็นความตายนั้น
ผู้มีจิตใจมุ่งมั่นต่อธรรมแดนหลุดพ้น
เป็นหลักยึดของพระผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานจริง ๆ "
แม่ทัพใหญ่ ที่เกรียงไกรในสมัยปัจจุบัน
คือ องค์พระหลวงปู่มั่น
ท่านควบคุม พญาช้างสารใหญ่ ควบคุมไว้จนอยู่หมัด
ซัดภพสิ้นชาติ ขาดจากใจ
ท่ามกลางป่าใหญ่ ขุนเขาแมกไม้ ท่านผู้ชนะ
จอมทัพใหญ่ผู้เกรียงไกรในสยาม
ประกาศนามก้องโลก ทุกข์โศกสิ้น แสงสว่างเรืองโรจน์
ดังเพชรนิล ท่านสูญสิ้นภพชาติ ขาดจบลง
          พระผู้ทรงหลังช้างใหญ่ประกาศชัยเหนือสิ้นแผ่นดินนี้
นามก้องโลก ระบือก้อง ทั่วเขตคาม
 ขนานนามองค์หลวงปู่มั่น ให้หวั่นเกรง
มีลูกศิษย์รายล้อม น้อมนบนอบ
พนมกรก้มกราบแทบบาทท่าน
เสียงกระหึ่มในใจ ถวายคุณ
ธรรมเกื้อหนุน คุณอนันต์ท่านเมตตา
 
ท่านประอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2413 ที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
 
บิดาชื่อนายคำด้วง แก่นแก้ว มารดาชื่อนางจันทร์ ปู่ของท่านชื่อ เฟี้ยแก่นท้าว มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน ท่านเป็นบุตรชายคนหัวปี
 
ท่านพระอาจารย์มั่นรูปร่างเล็ก ผิดขาวแดง ลักษณะเข้มแข็ง ว่องไว สติปัญญาเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เล็ก ๆ สมัยนั้นไม่มีโรงเรียนประชาบาล ใครจะเรียนหนังสือต้องเข้าวัด เป็นลูกศิษย์วัด
สามเณรมั่น
พระอาจารย์ได้เข้าอยู่วัดเมื่ออายุได้ 15 ปี และบวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านคำบง เล่าเรียนอักษรไทย อักษรธรรมและอักษรขอม
 
เนื่องจากท่านมีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาดมาก สนใจใคร่รู้ธรรมะประจำนิสัย ทำให้สามารถเรียนรู้สูตรต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่ยกย่องชมเชยของครูบาอาจารย์
 
ประกอบกับมีนิสัยความประพฤติเรียบร้อย ใจคอเยือกเย็น ไม่โกรธใครง่าย ๆ ให้อภัยคนอื่น มองคนอื่นในแง่ดีงามอยู่เสมอ ท่านจึงเป็นที่รักใคร่ของหมู่คณะและครูบาอาจารย์เป็นพิเศษ
 
บวชเป็นสามเณรอยู่ 2 ปี อายุได้ 17 นายคำด้วงบิดาจึงขอร้องให้สึก เพื่อให้มาช่วยเลี้ยงวัวเลี้ยงควายทำไร่ไถนา เป็นการแบ่งเบาภาระของบิดามารดาของน้อง ๆ
 
ทีแรกพระอาจารย์มั่นจะไม่ยอมสึกเพราะมีจิตใจดื่มด่ำรักในพระธรรมวินัยอย่างลึกซื้ง ใคร่รู้ใคร่เห็นธรรมอยากจะเล่าเรียนต่อไป แต่ทนอ้อนวอนของบิดาไม่ไหว จึงจำใจสึกออกมาช่วยทำนา
 
ครั้นต่อมาอีก 5 ปี อายุได้ 22 ปี พระอาจารย์มั่นก็ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนาสมความตั้งใจ
หนุ่มวัยคะนอง
ในระยะ 5 ปี ระหว่างอายุ 17-22 ก่อนบวชพระนี้ พระอาจารย์มั่นก็เหมือนคนหนุ่มวัยคะนองทั้งหลายนั่นเอง
เมื่อถึงฤดูกาลทำนา ท่านก็ทำนาช่วยบิดามารดาและน้อง ๆ อย่างขยันขันแข็ง เวลาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายกับเพื่อนฝูง ท่านก็สมาคมกับเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายลูกชาวบ้านเดียวกัน มีการเล่นหัวกันอย่างสนุกสนานร่าเริงด้วยเกมต่าง ๆ และหัดร้องรำทำเพลงไปตามประสา
เมื่อถึงฤดูเทศกาลงานบุญก็เที่ยวเตร่เฮฮาสนุกรื่นเริงบันเทิงใจตามวิสัยโลกธรรมชาวบ้าน
ท่านมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับขับลำนำคำร้องพื้นบ้านอันไพเราะ โดยเฉพาะ "กลอนหมอลำ" ท่านได้ไปขอหนังสือกลอนลำเพลงมาจากครูหมอลำคนหนึ่ง แล้วฝึกหัดลำท่วงทำนองต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
 
แคนท่านก็เป่าเก่งด้วยสมองอันยอดเยี่ยม ความจำรวดเร็วแม่นยำ ปรากฎว่าท่านสามารถลำเพลงพื้นบ้านได้อย่างรวดเร็ว สิ้นตำราจนครูหมอลำอัศจรรย์ใจ
 
ท่านสามารถลำล่องโขงได้อย่างไพเราะมาก กลอนแอ่วล่องโขงของท่านใครได้ฟังแล้วต้องเคลิบเคลิ้มน้ำตาซึมทีเดียว ลำกลอนเดินดงดั้นป่าชมนกชมได้ในพนาท่านก็ยอดเยี่ยม
 
ลำเกี้ยวสาว ลำแก้ ลำกระแตเต้นไม้ท่านก็เก่ง เรียกว่าเป็นหมอลำเพลงแคนสมัครเล่นที่เพื่อนฝูงและชาวบ้านยกย่อง และมักจะขอร้องให้ท่านขับลำทำเพลงให้ฟังเพื่อความสนุกครึกครื้นอยู่เสมอ
หาญสู้แม่เสือสาว
 
มีเรื่องสนุกสนานขำขันอยู่เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องขับลำทำเพลงแคนของพระอาจารย์มั่น เรื่องมีอยู่ว่า
คราวหนึ่งชาวบ้านได้จัดงานบุญขึ้นใหญ่โต มีคนไปเที่ยวมากมายเป็นพัน ๆ จากหมู่บ้านต่าง ๆ ในลำเนาละแวกถิ่นโขงเจียม ทางเจ้าภาพได้ว่าจ้างหมอลำสาวผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งมาลำแคนในงานนี้ พระอาจารย์มั่นตอนนั้นเป็นหนุ่มคึกคะนองยังไม่ได้บวชพระ ท่านเกิดนึกสนุกขึ้นมา กระโดดขึ้นไปบนเวทีหมอลำ ขอลำเพลงประชันกับหญิงสาวผู้นั้น
หมอลำสาวยินดีที่จะลำประชันกับท่าน เพื่อนฝูงที่ไปด้วยต่างก็ตกตะลึงไปตาม ๆ กัน พอได้สติก็พากันคัดค้านห้ามปรามหนุ่มมั่นไม่ให้ลำเพลงประชันกับหญิงสาว เพราะรู้ดีว่าหญิงสาวสวยผู้นั้นลำเก่งมาก ยิ่งลำกลอนสด ๆ แล้วละก็เป็นต้อนคู่แข่งที่เป็นหมอลำผู้ชายถึงกับจนแต้มต้องกระโดดหนีลงจากเวทีมาแล้วหลายงาน เพื่อนฝูงกลัวหนุ่มมั่นจะแพ้ห้าแต้มไม่เป็นท่า เพราะเป็นเพียงหมอลำเพลงสมัครเล่น เดี๋ยวจะเป็นที่อับอายขายหน้าชาวบ้านไป   เปล่า ๆ ไม่เข้าการ แต่ท่านมั่นกลับหัวเราะไม่ฟังเสียงคัดค้านของเพื่อน ๆ ยืนยันจะขับเพลงลำโต้กับหญิงสาวให้ได้ จะโต้กันตลอดรุ่งก็ยังไหวไม่มีกลัว เพื่อน ๆ ก็ล้อว่า เจ้ามั่นหลงรักสาวหมอลำคนสวยเข้าให้แล้ว จะทำตัวเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เมื่อห้ามไม่เชื่อ เพื่อนฝูงก็ปล่อยเลยตามเลย
พอเพลงแคนเริ่มต้นขึ้น ท่านหนุ่มมั่นก็ขับลำเพลงอันไพเราะเจื่อยแจ้วอย่างอาจหาญร่าเริ่งเชื่อมั่นในตัวเอง ท่ามกลางเสียงปรบมือโห่ร้องต้องรับของคนดูดับพัน ๆ อึงคะนึงด้วยความชอบอกชอบใจ
พอขับลำจบลงก็เป็นฝ่ายของหมอลำสาวคนสวยเสน่ห์แรงลำโต้บ้าง ลำกันไปลำกันมาอย่างสนุกสนานครึกครื้นก็ปรากฎว่า ท่านมั่นลำสู้ฝีปากคารมและแก้ปัญหาต่าง ๆ ของหญิงสาวไม่ได้อย่างเห็นได้ชัด
ยิ่งขับลำไปก็ยิ่งเป็นฝ่ายแพ้ ถูกหญิงสาวต้อนเอาแบบตีไม่เลี้ยง เล่นเอาท่านมั่นเหงื่อแตก เพราะหาญขับลำสู้กับมือชั้นครู เป็นเป็นหญิงสาวหน้าตาสวย ๆ เอวบางร่างน้อยนึกว่าคงจะไม่เท่าไหร่ แต่ที่ไหนได้หล่อนก็คือแม่เสือสาวดี ๆ นี่เอง
ภิกษุมั่น
ต่อมา เมื่อท่านมั่นอายุได้ 22 ปี ท่านได้สละเพศฆารวาสเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ที่วัดสีทอง โดยมีพระอริยกรี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครู่ประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "ภูริทัตโต"
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านพระภิกษุมั่นได้ไปฝากตัวเรียนวิปัสนากรรมฐานที่สำนักวัดเลียบในเมืองอุบลราชธานี โดยมีท่านพระอาจารย์เสาร์กนฺตสีโลเป็นพระอาจารย์สอนวิปัสสนา
การเข้าฝึกวิปัสสนากรรมฐานนี้ ท่านพระภิกษุมั่นได้ยึดเอาคำ "พุทโธ" เป็นคำบริกรรมภาวนาสมถะกรรมฐาน เพราะท่านชอบคำ "พุทโธ" นี้อย่างกินใจลึกซื้งดื่มด่ำเป็นพิเศษมากกว่าบทธรรมอื่น ๆ
และในเวลาต่อมาจวบกระทั่งตลอดชีวิตของท่านก็ได้ยึดเอาคำ "พุทโธ" นี้ใช้บริกรรมประจำใจในอริยาบทต่าง ๆ ในการเจริญวิปัสสนาทุกครั้งไป เมื่อถือเพศสมณะอย่างเต็มภาคภูมิแล้วท่านก็ตัดขาดทางโลกอย่างสิ้นเชิงไม่แลเหลียว
ความคึกคะนองในสมัยเป็นหนุ่มไม่มีหลงเหลืออยู่เลย กลับกลายเป็นคนละคนทีเดียว ท่านเต็มไปด้วยจริยาอันสำรวมเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่งยวด ไม่มีวอกแวกยึดถือธรรมธุดงควัตรอย่างเหนียวแน่นเอาเป็นเอาตาย ด้วยใจรักอันเด็ดเดี่ยวไม่ให้มีผิดพลาดได้แม้แต่นิดเดียว สืบมาตลอดชีวิตอันยาวนานของท่าน จนถึงวาระสุดท้ายเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นแดนเกษม
ธรรมธุดงควัตรที่ท่านยึดถือเป็นข้อปฏิบัติมี 7 ข้อคือ
1. ถือ ผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม เมื่อชำรุดเปื่อยขาดไปก็เย็บปะชุนด้วยมือตนเอง ย้อมเองเป็นสีแก่นขนุนหรือสีกรัก ซึ่งเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่ยอมรับคหปติผ้าไตรจีวรสวย ๆ งาม ๆ ที่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายถวายด้วยมืออย่างเด็ดขาด
2. ออก บิณฑบาตรทุกวันเป็นประจำ แม้จะป่วยไข้ก็ต้องพยายามพยุงกายออกบิณฑบาตร ยกเว้นเฉพาะวันที่ไม่ขบฉันอาหารเพราะเร่งบำเพ็ญเพียรภาวนากรรมฐานด้วยความเพลิดเพลินอาจหาญร่าเริงในธรรม ซึ่งมีอยู่บ่อย ๆ ที่ท่านเดินจงกลมและนั่งสมาธิ ภาวนาติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันโดยไม่ขบฉันอาหารเลย
 
3. ไม่ยอมรับอาหาร ที่ญาติโยมพุทธบริษัทตามส่งทีหลัง รับเฉพาะที่ใส่บาตร
4. ฉันมื้อเดียว คือฉันวันละหน ไม่ยอมฉันอาหารว่างใด ๆ ทั้งสิ้น ที่มีอามิสเข้าปะปน
5. ฉันอาหารในบาตร คือมีภาชนะใบเดียว ไม่ยอมฉันในสำรับกับข้าวที่มีอาหารต่าง ๆ อาหารคาวหวานทั้งหลายคลุกเคล้าฉันรวมแต่ในบาตร ไม่ติดใจในรสชาตอาหาร ฉันเพียงเพื่อยังสังขารให้พออยู่ได้ เพื่อเพียงจะได้บำเพ็ญเพียรภาวนาสร้างบารมีธรรม
6. อยู่ในป่าเป็นวัตร ปฏิบัติคือท่องเที่ยวเจริญสมณะธรรมกรรมฐานอยู่ตามร่มไม้บ้าง ในภูเขาบ้าง ในหุบเขาบ้าง ในถ้ำ ในเงื้อมผาอันเป็นที่สงัดวิเวกห่างไกลจากชมชน
7. ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า 3 ผืน ได้แก่ สังฆาฏิ จีวร และสบง (เว้นผ้าอาบน้ำฝนซึ่งจำเป็นต้องมีเป็นธรรมดาในสมัยนี้)
สำหรับธุดงควัตรข้ออื่น ๆ นอกจากที่กล่าวนี้แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นสมาทานและปฏิบัติเป็นบางสมัย แต่เฉพาะ 7 ข้อข้างต้นนี้ท่านปฏิบัติเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย ซึ่งจะหาผู้เสมอเหมือนได้ยากในปัจจุบัน
ท่านมีนิสัยพูดจริงทำจริง ซึ่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ เรียกว่าถือสัจจะเป็นบารมี แม้จะเอาชีวิตเข้าแลกก็ยอม มีความพากเพียรอย่างแรงกล้า มุ่งหวังต่อแดนหลุดพ้นพระนิพพานอย่างจริงใจ รู้ซึ้งถึงภัยอันน่ากลัวของการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารอย่างถึงใจ ไม่ใช่สักแต่ว่า       รู้เฉย ๆ  ท่านรู้จริงเห็นจริงว่า การต้องเกิดแล้วตาย...ตายแล้วเกิด... วนเวียนไปมาเป็นวงจักรไม่มีสิ้นสุดนี้เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องน่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหามบาปหาบทุกข์เปี่ยมแปล้อยู่นั่นแล้วไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งคิดยิ่งพิจารณาไปก็ยิ่งเห็นเป็นเรื่องน่ากลัวน่าเบื่อหน่ายเหลือประมาณ ชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์ ชาติหน้าเกิดเป็นเทวดาเกิดเป็นพรหม พอหมดจากพรหมก็ลงมาเกิดในนรก จากนรกมาเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ ดิรัจฉาน
วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาตินับเป็นอสงไขยหรือหลายแสนหลายพันล้าน ๆ ปี เมื่อเกิดแต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องใช้บาปกรรมของภพชาตินั้นอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งทุกข์ทั้งสุขอันไร้แก่นสารสาระน่าเบื่อหน่ายจริง ๆ
จะมีก็แค่แดนหลุดพ้นคือ พระนิพพานเท่านั้นเป็นแดนสุขเกษมอย่างแท้จริง นิพพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นแดนสุขอย่างยิ่ง เป็นแดนรอดปลอดจากทุกข์ เป็นแดนของพระวิสุทธิเทพ คือพระอรหันต์ผู้เสวยความสุขที่ยอดเยี่ยมและสูงสง่า
เป็นความสุขสำราญทั้งกาย และใจ ที่สุขล้นพ้นเหนือมหาเศรษฐี เหนือพระราชามหากษัตริย์ เหนือเทวดาและพรหมที่พึงได้รับ เมื่อพระอรหันต์ทิ้งร่างมนุษย์ไปแล้ว รูปก็สูญ เวทนาก็สูญ สัญญาสูญ สังขารสูญ วิญญาณสูญ
แต่จิตยังคงอยู่ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากอาสวะกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นจิตที่มีดวงสุกใสประดุจดาวประกายพรึก จิตดวงนี้จะพุ่งไปสถิตย์อยู่ ณ แดนพระนิพพาน
เมื่ออยากจะครองร่างสมบัติใด ๆ เช่นกายทิพย์ ก็พร้อมที่จะนฤมิตได้เพื่อเสวยความสุขสุดยอดนานานัปการ
ถ้าไม่อยากจะเสวยสุขในร่างสมมติหรือธรรมกายจะอยู่เฉย ๆ เหมือนเข้านิโรธสมาบัติ ทรงอยู่แต่จิตสุกใสดวงเดียวก็ได้ เป็นแดนที่ไม่ต้องตายอีกต่อไปไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป
หากมีความทรงตัวอยู่เสวยความสุขอันยอดเยี่ยมที่เทวดาและพรหมทั้งหลายมีความใฝ่ฝันปรารถนาถึงยิ่งนัก
 
นิพพานไม่สูญ
นิพฺพานํ ปรมํ สูญญํ แปลว่า นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง
 
เป็นแดนว่างหรือปลดจากอุปสรรคขัดขวาง หรือขัดข้องทั้งสิ้นทั้งปวง เป็นแดนของวิสุทธิเทพ คือผู้เป็นพระอรหันต์ ที่ละลายกายทิพย์หมดสิ้นแล้ว เหลืออยู่แต่จิตสุขใสเป็นดวงแก้วประกายพรึก
 
พระอรหันต์สถิตย์อยู่ในแดนพระนิพพานนั้น ถ้าท่านต้องการจะทำอะไร อย่างไรจะให้เป็นอะไร ท่านก็สามารถนฤมิตได้สำเร็จทุกอย่างไม่มีอะไรขัดข้อง ปลอดจากอุปสรรคทั้งปวง ท่านสามารถแบ่งภาคได้ร้อยแปดพันประการไม่จำกัดขอบเขต ไม่จำกัดกาลเวลา
 
คำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สูญญํ ที่แปลกันไปว่า นิพพานเป็นแดนสูญสิ้นไม่มีอะไรเหลือเลยนั้น พระอาจารย์มั่นบอกว่า ไม่เป็นความจริง นิพพานไม่ใช่สูญ ปรมํ สูญญํ ที่ไปแปลกันว่าคือ สูญโญ อันหมายถึงสภาวะไม่มีอะไรเลยอย่างเด็ดขาดนั้น เป็นการแปลหรือตีความที่ผิด
 
การแปลความแบบนี้ก็เพื่อจะยืนยันความนึกเดาเอาตามมติของตนเองว่า นิพพานคือภาวะดับสูญอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีค่าเท่ากับที่สัทธิศูนยวาทว่าไว้ว่า ไม่มีอะไร ๆ ก็หายสาปสูญไปหมด เรียกไม่รู้ กู่ไม่กลับนั่นเอง
 
นิพพานไม่ใช่แดนสูญอย่างที่เข้าใจกันเลย
 
นิพพานเป็นแดนทิพย์คล้ายพรหมโลก แต่สวยงามวิจิตพิสดารยิ่งกว่าพรหมโลก ผู้สำเร็จพระอรหันต์เข้าไปสู่แดนพระนิพพานนั้น มีร่างทิพย์ละเอียดที่นฤมิต ไม่ใช่กายทิพย์ธรรมดาเหมือนโอปปาติกะทั้งหลาย
 
กายทิพย์ หรือธรรมกายของพระอรหันต์ในแดนนิพพานเป็นกายทิพย์ที่นฤมิตขึ้นด้วยธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นเองเป็นเองโดยธรรมชาติของโลกวิญญาณ
 
ร่างธรรมกายของพระอรหันต์เป็นทิพย์ละเอียดใสสะอาดใสเป็นประกายคล้ายแก้วประกายพรึก มีรัศมีสว่างไสวมากกว่าพระพรหมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย มีความสุขที่สุดอย่างไม่มีอะไรเปรียบ เพราะความรู้สึกอื่นไม่มี มีแต่จิตสงเคราะห์
 
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่เข้าสู่แดนพระนิพพานไปนมนานกาเลแล้วนั้น ไม่ได้สูญไป
 
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายยังอยู่ ทรงอยู่ในสภาพของจิตคล้ายดาวประกยพรึก แต่เป็นดวงจิตที่รอบรู้สัพพัญญุตญาณคือความเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดหมดสิ้นในเรื่องของสกลจักรวาล รู้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องแม่นยำไม่มีผิดพลาด
 
โลกเราเป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่งล่องลอยโครจรไปในอวกาศอันกว้างใหญ่ไฟศาลหาขอบเขตไม่ได้ เปรียบไปก็คล้ายเป็นยานวากาศลำกระจ้อยร่อยเหลือเกิน
 
เมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาล เวลานับแสนนับล้านปีของโลกเราที่หมุนไป อาจจะเป็นเสี้ยววินาทีเดียวของเวลาสากลจักรวาลก็ได้
 
ดังนั้นเวลา 2525 ปี นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานไป อาจจะเป็นเวลาเพียงเศษหนึ่งส่วนล้านวินาทีของเวลาในแดนพระนิพพานก็ได้
 
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกยังอยู่ในแดนพระนิพพาน ไม่ได้หายลับดับสูญไปไหน
 
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า หลังจากที่ท่านบรรลุธรรมขั้นสูงสุดแล้วในคืนวันต่อมา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกอรหันต์จำนวนมาก ได้เสด็จมาทางนิมิตสมาธิ แสดงอนุโมทนาวิมุตติกับท่าน คือแสดงความยินดีที่ท่านพระอาจารย์มั่นบรรลุอรหันตผล
 
ลวงตาหรือกายทิพย์
เรื่องนี้มีท่านผู้อ่านวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เป็นไปไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายจะยังมี "ร่างทิพย์" เหลืออยู่และเสด็จมาโปรดได้
เพราะพระพุทธเจ้าเข้าสู่พระปรินิพพานดับสูญไปกว่าสองพันปีแล้ว ไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกเลย พระพุทธองค์จะเสด็จมาได้อย่างไร แม้ว่าจะเสด็จมาในรูปกายทิพย์ก็ตามเถิด
นักวิจารณ์ที่เป็นจอมปราชญ์ทางปริยัติก็กล่าวหาว่า ท่านพระอาจารย์มั่นน่าจะได้เห็นภาพลวงตาซึ่งเกิดจากการเข้าสมาธิลึก ๆ เสียมากกว่า
อาการเห็นภาพลวงตาแบบนี้ คัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่าเป็นความวิปลาสอย่างหนึ่ง คือความรู้เห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ความผันแปรกลับกลายอันเป็นลักษณะมายาหลอนจิต
คำกล่าวหาว่า พระอาจารย์มั่นวิปลาสไปขณะเข้าสมาธิลึก ๆ นี้ เป็นคำกล่าวหาที่อ้างอิงบิดเบือนไม่รู้จริงถึงเรื่องสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา หรือาจจะรู้จริงเรื่องหลักสมาธิเหมือนกัน แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ
 
หากรู้ได้ด้วยการสักแต่ว่าอ่านจากตำราแบบความรู้ท่วมหัว แต่ไม่เอาตัวเข้าปฏิบัติ การรู้ด้วยวิธีนี้ เป็นการรู้ด้วยความคาดหมายหรือคาดคะเนเอา ตามนิสัยของมนุษย์ที่ชอบค้นชอบเดาเอาตามสันดาน
เป็นความเห็นตามสัญญาหรือความจำได้หมายรู้จากตำรา ไม่ใช่รู้จากการลงมือปฏิบัติด้านสมาธิจิตวิปัสสนากรรมฐาน เพราะการรู้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้เป็นการหยั่งรู้ด้วย          ปัญญาล้วน ๆ
ฉะนั้นความเห็นตามสัญญากับความเห็นตามปัญญาผลย่อมจะต่างกันราวฟ้ากับดิน
พระอาจารย์มั่นเห็นอะไรต่ออะไรได้ด้วยปัญญาของท่าน ไม่ใช่เห็นตามสัญญาความจำได้หมายรู้
การที่หาญไปวิพากษ์วิจารย์ท่านพระอาจารย์มั่นเช่นนี้ เป็นการเอาระดับความนึกคิดของตนซึ่งเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ไปวัดอารมณ์และสติปัญญาของพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นพระอริยเจ้าผู้ทรงภูมิธรรมขั้นสูง
เปรียบไปแล้วก็เหมือนเราเป็นแค่นักเรียนอนุบาลหาญกล้าไปวิพากษ์วิจารณ์ภูมิรู้ในด้านการปฏิบัติของศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในห้องทดลองวิทยาศาสตร์
แน่นอน การวิพากษ์วิจารณ์นั้นย่อยจะไร้เดียงสาผิดพลาดอย่างน่าสงสาร
ตามความเป็นจริงนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นมีญาณพิเศษตาทิพย์ หูทิพย์ รู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งอย่างทั้งภายในและภายนอก โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสมาธิลึก ๆ เลย
เพียงแต่ท่านเข้าสมาธิอย่างอ่อน ๆ ระดับอุปจาระสมาธิก็สามารถรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้กว้างขวางโดยไม่จำกัดขอบเขต
ในบางครั้งบางคราวท่านไม่จำเป็นต้องเข้าสมาธิเลยก็เกิดญาณพิเศษ สามารถรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตาทิพย์หูทิพย์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำน่าอัศจรรย์
ญาณพิเศษนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจปัญญาอัตโนมัติหมุนทับรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องมีการบังคับบัญชาใด ๆ เปรียบไปแล้วก็เหมือนเครื่องเรด้าร์ขนาดใหญ่สามารถรับรู้เหตุการณ์ทั้งใกล้และไกลได้ถูกต้องแม่นยำนั่นเอง
เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันตสาวกจำนวนมาก เสด็จมาแสดงความยินดีกับพระอาจารย์มั่นที่ท่านบรรลุ        อรหันตผลนี้ ท่านได้เล่าให้สานุศิษย์ทั้งหลายฟังว่า
พระพุทธองค์เสด็จมาในสมาธินิมิต แล้วประทานพระโอวาทอนุโมทนาแก่ท่านพระอาจารย์มั่น มีใจความว่า
 
เราตถาคตทราบว่า เธอพ้นโทษจากอนันตรทุกข์ในที่คุมขังแห่งเรือนจำของวัฏฏทุกข์ จึงได้มาเยี่ยมอนุโมทนา
ที่คุมขังแห่งนี้ใหญ่โตมโหฬารและแน่นหนามั่นคงมาก มีเครื่องยั่วยวนชวนให้เผลอตัวและติดอยู่รอบตัวไม่มีช่องว่าง จึงยากที่จะมีผู้แหวกว่ายออกมาได้ เพราะสัตว์ในโลกจำนวนมากไม่ค่อยมีผู้สนใจเกี่ยวกับทุกข์ที่เป็นอยู่กับตัวตลอดมาว่า เป็นสิ่งที่ทรมานและเสียดแทงร่างกายจิตใจเพียงใด พอจะคิดเสาะแสวงหาทางออกด้วยวิธีต่าง ๆ เหมือนคนเป็นโรคแต่มิได้สนใจกับยา ยาแม้มีมากจึงไม่มีประโยชน์สำหรับคนประเภทนั้น
ธรรมของเราตถาคตก็เช่นเดียวกับยา สัตว์โลกอาภัพเพราะโรคกิเลสตัญหา ภายในใจเบียดเบียนเสียดแทง ทำให้เป็นทุกข์แบบไม่มีจุดหมายว่า จะหายได้เมื่อไร
 สิ่งตายตัวก็คือโรคพรรค์นี้ ถ้าไม่รับยาคือธรรมะจะไม่มีวันหายได้ ต้องฉุดลากสัตว์โลกให้ตายเกิดคละเคล้าไปกับความทุกข์กายทุกข์ใจ และเกี่ยวโยงกันเหมือนลูกโซ่ตลอดอนันตกาล
พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทต่อไปว่า ธรรมะแม้จะมีเต็มไปทั้งโลกธาตุ ก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ไม่สนใจนำไปปฏิบัติรักษาตัวเท่าที่ควรจะได้รับจากธรรมะ
ธรรมะก็อยู่แบบธรรมะ สัตว์โลกก็หมุนตัวเป็นกงจักรไปกับทุกข์ในภพน้อยภพใหญ่แบบสัตว์โลก โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง ว่าจะสิ้นสุดทุกข์กันลงเมื่อใด ไม่มีทางช่วยได้ ถ้าไม่สนใจช่วยตัวเอง โดยยึดธรรมะมาเป็นหลักใจและพยายามปฏิบัติตาม
พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้เพิ่มจำนวนองค์และสั่งสอนมากมายเพียงใด ผลที่ได้รับก็เท่าที่โรคประเภทคอยรับยามีอยู่เท่านั้น
ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ว่าพระองค์ใด มีแบบตายตัวอย่างเดียวกันคือ สอนให้ละชั่ว ทำดี ทั้งนั้น ไม่มีธรรพิเศษและแบบสอนพิเศษไปกว่านี้ เพราะไม่มีกิเลสตัณหาพิเศษในใจสัตว์โลก ที่เพิเศษเหนือธรรมซึ่งประกาศสอนไว้
เท่าที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทานไว้แล้ว เป็นธรรมที่ควรแก่การรี้อถอนกิเลสทุกประเภทของมวลสัตว์อยู่แล้ว นอกจากผู้รับฟังและปฏิบัติตามจะยอมแพ้ต่อเรื่องกิเลสตัญหาของตัวเสียเอง แล้วเห็นธรรมเป็นของไร้สาระไปเสียเท่านั้น
ตามธรรมดาแล้วกิเลสทุกประการต้องฝืนธรรมดาดั้งเดิม คนที่คล้อยตามมัน จึงเป็นผู้ลืมธรรมะไม่อยากเชื่อฟังและทำตาม โดยเห็นว่าลำบากและเสียเวลาทำในสิ่งที่ตนชอบ ทั้งที่สิ่งนั้นเป็นโทษ
ประเพณีของนักปราชญ์ผู้ฉลาดมองเห็นการณ์ไกลย่อมไม่หดตัวมั่วสุมอยู่เปล่า ๆ เหมือนเต่าถูกน้ำร้อนไม่มีทางออก ต้องยอมตายในหม้อที่กำลังเดือดพล่าน
โลกเดือดพล่านอยู่ด้วยกิเลสตัญหาความแผดเผา ไม่มีกาลสถานที่ ที่พอจะปลงวางลงได้ จำต้องยอมทนทุกข์ทรมานไปตาม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์อยู่บนอากาศและใต้ดิน สิ่งแผดเผาเร่าร้อนอยู่กับใจ ความทุกข์จึงอยู่ที่นั่น
กราบขอบพระคุณแหล่งข้อมูล >>>